วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันพฤหัสบดี ที่ 11 มิถุนายน 2558


เด็กไม่ยอมกินผัก
      ธรรมชาติของเด็กมักชอบอาหารรสหวานและไม่โปรดปรานอาหารรสเปรี้ยวหรือขม อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งของความ ชอบหรือไม่ชอบรสชาติอาหารมีผลมาจากอาหารที่แม่รับประทานในขณะตั้งครรภ์และระหว่างให้นม สาเหตุของปัญหาเด็กไม่รับประทานผักส่วนหนึ่งอาจเป็นผลโดยตรงมาจากแม่ ดังนั้น หากแม่รับประทานผักหลาก หลายชนิดในขณะตั้งครรภ์ แนวโน้มที่ลูกจะชอบผักหลายชนิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กไม่ยอมรับ ประทานผัก ไม่อาจตัดสินได้โดยสิ่งที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว เพราะปกติแล้วพฤติกรรมการเลือกอาหาร  โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นตลอดช่วงวัยเด็ก เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อลูกสูงสุดและอาจเป็นสาเหตุของปัญหาเด็กไม่ยอมรับประทานผักก็คือ “ผู้ปกครอง”
             สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและพฤติกรรมการบริโภคของเด็กมักถูกกำหนดโดยผู้ปกครอง หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวด ล้อมที่ดี มีโอกาสได้รับประทานอาหารและผักหลายประเภทโดยไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ พ่อแม่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ รวมทั้งสร้างระเบียบวินัยในการรับประทานให้ลูก ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ล้วนนำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมของเด็ก รวมทั้งการรับประทานผักด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ปัญหาเด็กเลือกรับประทานอาหารมักหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น ยกเว้นเมื่อเด็กได้รับการวินิจฉัยว่ามีลักษณะพฤติกรรมเลือกรับประทานอาหารแบบปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสภาพร่างกายและจิตใจ และต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กจะไม่ยอมรับประทานสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคยอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะหิวก็ตาม
แนวทางแก้ไขปัญหา
              ทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับผักก็คือการทำให้เด็กรู้จักผัก โดยครูควรนำผักมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งอาจโยงไปได้ถึงการสอนความรู้แขนงอื่น เช่น ผักและสี ประโยชน์ของผัก ผักและจำนวนนับ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นต้น จากนั้น ครูควรทำให้เด็กเข้าใกล้ผักมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยกิจกรรม “สวนผัก” โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นด้วยกำลังของตัวเองกำลังเติบโต ย่อมทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และอยากลิ้มลองรสชาติอันเกิดจากความทุ่มเทของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ครูอาจจัดกิจกรรมให้เด็กประกอบอาหารจากสวนผักของตนเอง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น และอยากมีส่วนร่วม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนของนิสัยเลือกรับประทานของเด็กไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน ท้ายที่สุด ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เพราะหากครูสามารถแสดงให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการรับประทานผัก และเปลี่ยนให้เด็กคิดได้ว่าการรับประทานผักไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด พวกเขาย่อมมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาลองรับประทานผักอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น