วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันพุธ ที่ 24 มิถุนายน 2558





เด็กพูดติดอ่าง
     🐢🐢   เป็นความผิดปกติของการพูด มีลักษณะพูดไม่คล่อง ตะกุกตะกัก ติดๆขัดๆ พูดซ้ำๆ คำเดิม มักเป็นคำต้นประโยค  อาการติดอ่างมักเกิดในเด็กก่อนวัยเรียน เนื่องจากเด็กวัยนี้มีพัฒนาการด้านภาษาเร็ว อยู่ในช่วงที่เด็กกำลังหัดพูด จึงอาจพูดผิด พูดติดๆ ขัดๆ หรือพูดไม่ชัดได้ อาการติดอ่างอาจเกิดขึ้นชั่วคราวเพียงช่วงหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป อาการนี้อาจหายไปได้เอง แต่บางคนก็เป็นต่อเนื่องจนโต ซึ่งจะรักษาได้ยากกว่า ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการติดอ่าง ควรรักษาตั้งแต่ต้น

แนวทางแก้ไขปัญหา 
    🐢🐢 เมื่อพบว่าเด็กพูดติดอ่าง ขั้นแรกควรสังเกตและติดตามดู ไม่ควรตำหนิหรือทักต่อหน้าผู้อื่น เพราะจะทำให้เด็กไม่สบายใจและเกิดความกังวลได้ วิธีที่จะช่วยแก้ไขเด็กที่พูดติดอ่างทำได้โดย
       - เป็นผู้ฟังที่ดี ควรให้ความสนใจและตั้งใจฟังเด็กที่กำลังพยายามพูดมากกว่าจ้องจับผิดว่าเด็กกำลังพูดอะไร และไม่ควรแสดงท่าทีผิดปกติขณะที่เด็กพูดไม่คล่อง
       - รับฟังด้วยท่าทีที่อ่อนโยน สงบ และเข้าใจ ไม่ว่าเด็กจะพูดติดอ่างหรือไม่ ท่าทีที่ผ่อนคลายของผู้ใหญ่ จะทำให้เด็กมีความมั่นใจ สบายใจ และหายติดอ่างได้
       - ไม่ควรเร่งให้เด็กพูด ควรให้เวลาเด็กได้คิด รวบรวมคำพูด โดยไม่แสดงท่าทีที่รำคาญ
       - อย่าสอนให้เด็กพูดมากเกินไปจนเป็นการยัดเยียดโดยไม่ตั้งใจ ควรให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง จากการพูดคุย การเล่น กิจวัตรประจำวัน หรือการดำเนินชีวิตภายในบ้านและนอกบ้าน
       - เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ด้วยการพูดช้าๆ ชัดๆ สั้นๆ ได้ใจความ กะทัดรัด ไม่เยิ่นเย้อ
       

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันอังคาร ที่ 23 มิถุนายน 2558



เด็กขี้กลัว
     🐝🐝 ปัญหาเด็กขี้กลัวเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น  กลัวความมืดเพราะเคยถูกจับขังในตู้เสื้อผ้าเป็นการทำโทษ เลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่เพราะเห็นผู้ใหญ่กลัวสิ่งนั้นๆ เช่น ฟ้าร้อง ความมืด กลัวคำขู่คำเตือน เช่น หยุดร้องไห้เดี๋ยวตำรวจมาจับ เมื่อมาอยู่ที่โรงเรียนเด็กจะรู้สึกกลัวคุณครูไม่กล้าพูดคุยกับคุณครู เลยทำให้เด็กเก็บกดไม่กล้าที่จะทำอะไร ความกลัว เป็นธรรมชาติของเด็กทุกวัย ถ้าเราลองสังเกตตัวเองจะพบว่า เมื่อเป็นเด็กเราเคยกลัวความมืด แต่พอโตขึ้นกลับไม่กลัว แต่ก็ยังกลัวอย่างอื่นอยู่ ความกลัวของคนเราแตกต่างไปตามวัย

          🐝🐝 เด็กขี้กลัว มักไม่ค่อยมีอาการเห็นเด่นชัดเหมือนเด็กก้าวร้าว เพราะดูภายนอก เราจะเห็นเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความสงบเสงี่ยมไม่ได้หมายถึงความไม่มีปัญหา เพราะเด็กยิ่งเงียบก็ยิ่งผิดปกติอย่าปล่อยใหเด็กอยู่กับความกลัวทุกวัน ความกลัวที่เกิดขึ้นตามวัยเด็กบางวัยจะรู้สึกกลัวง่ายต่อบางสิ่งบางอย่างเพราะความคิดอ่านยังไม่พัฒนาพอ เพราะความกลัว หรือความกังวลที่เกิดขึ้นในวัยเด็กสามารถพัฒนาตัวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้กลัว
ปัญหาแนวทางแก้ไข
     🐝🐝 ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก ถ้าเด็กรู้สึกอบอุ่นมั่นใจในความรักของพ่อแม่เป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้รู้สึกกลัวอะไรที่ไม่ีวรกลัว
         🐝🐝 ไม่ขู่เด็ก ควรสอนความจริงพูดด้วยเหตุผลง่ายๆให้เด็กเข้าใจถึงอันตรายไม่ควรขู่ให้รู้สึกหวาดกลัว
          🐝🐝 ป้องกันเด็กจากประสบการณ์ที่หวาดกลัว เช่น การดูภาพยนต์ที่น่ากลัว
          🐝🐝 แก้การกลัวในผู้ใหญ่ที่ถ่ายทอดให้เด็ก
         🐝🐝 อย่าให้ความรู้ผิดๆกับเด็ก เช่น ตุ๊กแกชอบกินตับกับเด็กที่ร้องไห้


วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันจันทร์ ที่ 22 มิถุนายน 2558


เด็กชอบกัดเล็บตนเอง
          ⏰⏰ ปัญหาเด็กกัดเล็บตนเองพบได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนใหญ่ชอบนั่งกัดเล็บมือเมื่อนั่งอยู่ว่างๆ บางคนกัดน้อย บางคนกัดมาก บางคนถึงกัดเล็บเท้าตนเอง เด็กที่ชอบกัดเล็บตนเองมักจะสังเกตพบได้ คือ การไม่อยู่นิ่งของเด็ก นอนไม่นิ่ง หรือชอบดูดนิ้วมือ เด็กที่ชอบกัดเล็บส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพของตนเอง การกัดเล็บ เป็นการแสดงออกถึงความเก็บกด มักเกิดจากความเครียดหรือความเศร้า เด็กบางคนกัดเล็บเพราะโดนคุณแม่ดุ พ่อกับแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก ฯลฯ หรือเด็กบางคนกัดเล็บตอนที่คุณพ่อคุณแม่หย่าร้างกัน แต่เมื่อเด็กเริ่มปรับตัวได้ก็จะเลิกกัดเล็บไปเอง แต่บางคนก็ยังกัดอยู่เนื่องจากกัดบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงการแสดงความรู้สึก การรักษา อาจเริ่มจากการแก้ไขสิ่งที่รบกวนจิตใจหรือก่อให้เกิดความเครียดก่อน เช่น ถ้าเด็กเริ่มกัดเล็บช่วงที่คุณพ่อคุณแม่มีน้องใหม่ อาจต้องหันมาดูแลเอาใจใส่เขาอย่างที่เคยทำมาก่อน หรืออาจตั้งบทบาทชัดเจน ให้เขาทำตัวเป็นพี่ ต้องดูแลน้อง ทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมและอยากช่วยดูแลน้อง แล้วเขาก็จะเลิกกัดเล็บไปเอง

แนวทางแก้ไขปัญหา

           ⏰⏰ ครูควรหากิจกรรมให้เขาทำ ให้เขาได้ออกไปวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่นกับเพื่อนๆ ได้เล่นเกมต่างๆ ที่เป็นการฝึกสมอง และได้ออกกำลังกายไปในตัว ทำให้เขาได้ทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และได้ออกกำลังกาย
           ⏰⏰ ครูควรสร้างแรงจูงใจ เช่น ถ้าวันนี้เขาไม่กัดเล็บเลย คุณจะให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำอาหารที่เขาชอบให้ทาน หรือติดสติ๊กเกอร์เด็กดีไว้ที่เล็บ เวลาเขาเผลอจะกัดเขาก็จะเห็น แล้วนึกได้ว่าเขาเป็นเด็กดี เขาไม่กัดเล็บ
          ⏰⏰ ครูไม่ควรตักเตือนว่ากล่าวเวลาที่เห็นเขากัดเล็บ เพราะจะทำให้เขากัดเล็บมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลับหลังคุณครูหรือเวลาอยู่ที่บ้าน

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันพุธ ที่ 17 มิถุนายน 2558

เด็กไม่ชอบดื่มนมจืด
               ปัญหาเกิดจากเด็กติดรสชาตินมหวานมาจากที่บ้านเพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบทานนมที่มีรสชาติจืดจึงทำให้ผู้ปกครองหันมาซื้อนมที่มีรสชาติหวานให้กับเด็กเพราะทานง่ายเมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในโรงเรียนคุณครูจะให้ทานนมที่มีรสชาติจืด ทำให้เด็กบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับนมรสชาติจืดจึงทำให้ทานยากยิ่งขึ้น เด็กบางคนก็จะไม่ยอมกินนม ได้แต่นั่งมองกล่องนมอยู่เฉยๆ บางคนก็กัดหลอดจนแบนทำให้ไม่สามารถดูดนมได้หรือไม่ก็อมนมทำท่าเหมือนดูดนมแต่สุดท้ายก็ไม่ยอมดูดจึงทำให้ทานนมได้น้อยลง เมื่อโดนบังคับมากๆก็ไม่อยากมาโรงเรียนจนกลายเป็นปัญหาตามมาและที่สำคัญจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการ
แนวทางแก้ไขปัญหา
                 จัดกิจกรรมให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับเพื่อนๆในการออกกำลังกายโดยครูเป็นผู้คอยแนะนำให้นักเรียนเห็นถึงประโยชน์ของการดื่มนม เช่น ทำให้ผิวสวย ฟันแข็งแรง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมเต้นเพลงกายบริหารนักเรียนจะมีความสุขมากที่ได้ทำกิจกรรมเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมกายบริหารร่วมกับเพื่อนๆทำให้นักเรียนที่ไม่ชอบดื่มนมเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มนมมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันจันทร์ ที่ 15 มิถุนายน 2558


เด็กติดขวดนม
          👧🏻 ปัญหาเด็กติดขวดนม เพราะเด็กแต่ละคนมีความพร้อมในการเลิกขวดนมต่างกัน หรือบางคนอาจเลิกขวดนมได้เองตามธรรมชาติโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการติดขวดนม การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนก็สมควรต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะหากปล่อยไว้ ยิ่งเวลาผ่านไป เด็กจะยิ่งติดขวดนมมากยิ่งขึ้นจนทำให้การเลิกขวดนมกลายเป็นเรื่องที่ยาก โดยในบางกรณี พ่อแม่อาจต้องปรึกษาแพทย์ร่วมด้วย เพราะปัญหาเด็กติดขวดนมอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก ซึ่งได้แก่ “โรคฟันผุ” จนอาจกล่าวได้ว่าปัญหาเด็กติดขวดนมและโรคฟันผุเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กไม่สามารถเข้านอนในเวลากลางคืนได้โดยไม่มีขวดนม ทั้งนี้เพราะหากเด็กดูดนมจากขวดเป็นระยะเวลานาน หรือมีน้ำนมค้างอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลให้เกิดกรดที่ทำลายผิวฟันจนเกิดฟันผุ  ทั้งนี้โรคฟันผุอันเกิดจากขวดนมของเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาฟันผุชนิดรุนแรงในเด็กปฐมวัย  มักตรวจพบได้ง่ายบริเวณด้านหลังของฟันหน้าและฟันกรามล่าง ซึ่งเป็นฟันส่วนที่สัมผัสจุกนมมากที่สุด รวมถึงเป็นส่วนที่น้ำนมติดค้างอยู่มากที่สุด โดยหากเด็กฟันผุจนถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการถอนฟัน ปัญหาอื่นที่อาจตามมาได้ เช่น การเคี้ยวและกลืนอาหารที่ไม่ปกติ การพูด รวมถึงส่งผลกระทบต่อการงอกของฟันแท้ เช่น ฟันแท้อาจไม่ขึ้น หรือเกิดปัญหาฟันคุด และอาจทำให้ฟันแท้เรียงตัวไม่สวยงามอีกด้วย 
          👧🏻โดยปกติแล้ว เด็กควรจะเลิกขวดนมได้เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงก่อนวัยเรียน ดังนั้น จึงหมายความว่า โรงเรียนจะยังไม่มีบทบาทในปัญหาติดขวดนมในเวลาดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่าปัญหาติดขวดนมจะติดตัวเด็กเรื่อยมาจนกระทั่งเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน ครูจึงกลายเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะนิสัยติดขวดนมที่พบในเด็กที่เริ่มไปโรงเรียน ย่อมสะท้อนถึงระดับปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น  
แนวทางแก้ไขปัญหา
🍎ประสานกับผู้ปกครอง โดยให้ความรู้และขอความร่วมมือในการใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเลิกขวดนม ทั้งนี้ ความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ว่าเด็กควรจะเลิกขวดนมเมื่อไหร่ เพราะเหตุใด และจะสามารถช่วยได้อย่างไรบ้าง
🍎 กระตุ้นพฤติกรรมพึงประสงค์ด้วยการให้รางวัล ชมเชย รวมถึงใช้การเรียนรู้ทางอ้อม ผ่านนิทาน สื่อการสอน และจากสังคมรอบข้างคือเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กเห็นถึงประโยชน์ของพฤติกรรมพึงประสงค์และโทษของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
🍎 จัดกิจกรรมให้เด็กทำเพื่อดึงความสนใจของเด็กจากขวดนม การปล่อยให้เด็กติดขวดนมจะทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นของเล่นและพูดคุยกับผู้อื่น ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก
🍎 ส่งเสริมสุขอนามัยทางช่องปาก ด้วยการให้เด็กแปรงฟันและใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุที่อาจเกิดขึ้น
🍎 ไม่อนุญาตให้เด็กนำขวดนมมาโรงเรียน โดยขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน 2558


การพูดคำไม่สุภาพ
        ปัญหาเด็กพูดคำไม่สุภาพเป็นปัญหาที่มักสร้างความตกใจให้กับพ่อแม่และคนรอบข้าง ถึงแม้ว่าปัญหาเด็กพูดคำไม่สุภาพนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากนัก แต่หากเราปล่อยปละละเลยและไม่หาวิธีการแก้ไขพฤติกรรมนี้ให้หมดไป เด็กก็จะติดคำพูดคำไม่สุภาพไปจนโต การแก้ปัญหาเด็กพูดคำไม่สุภาพ นั้นควรจะเริ่มสนใจที่มาที่ไปของคำไม่สุภาพนั้นว่าเด็กไปเรียนรู้เอาคำไม่สุภาพมาจากไหน ใครพูดเป็นแบบอย่างให้เด็กได้ยิน และจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่อให้พฤติกรรมเด็กพูดคำไม่สุภาพจะได้หมดไปอย่างถาวร ตลอดจนเด็กสามารถแยกแยะคำพูดได้ว่าประเภทไหนควรพูดประเภทไหนไม่ควรพูด เพื่อที่ว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีพ่อแม่หรือครูอยู่ข้างๆ เขาก็สามารถตระหนักได้ถึงคำที่ควรพูดและคำที่ไม่ควรพูด แหล่งปัญหาที่พ่อแม่จะต้องศึกษาให้ทราบอย่างชัดเจนว่าลูกได้รับ หรือเรียนรู้การพูดคำไม่สุภาพมาจากใคร เพื่อที่ว่าจะได้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงประเด็นตลอดจนการป้องกันแบบถาวรหรือที่เรียกว่าสร้างภูมิคุ้มกันการพูดคำไม่สุภาพนั่นเองผ
               เด็กๆ มักจะเริ่มจดจำและพูดคำไม่สุภาพ มักจะจดจำคำต่างๆ เมื่อได้ยินบ่อยๆ และทดลองการใช้คำไม่สุภาพ ในความคิดของพวกเขานั้นคำไม่สุภาพนั้นเป็นคำคำหนึ่งที่เขาไม่รู้ความหมายแน่นอน ซึ่งเลียนแบบคำพูดจากผู้ใหญ่ เด็กจะพูดตามโดยไม่รู้ความหมายหรือรู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่ได้ฟังเด็กพูดแล้วเห็นว่าเด็กพูดโดยไม่รู้ความหมาย ไร้เดียงสาและหัวเราะชอบใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าการพูดเช่นนี้ดี เด็กจึงพูดอยู่เรื่อยๆ เด็กบางคนมักจะพูดในเวลาโกรธหรือไม่พอใจ เช่นเวลาเด็กถูกเพื่อนรังแกแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็จะใช้คำว่า "ไอ้ " หรือ “อี” แต่เด็กรู้ว่าเวลาโกรธหรือไม่พอใจใครสักคนก็สามารถระบายคำนี้ออกมา เด็กบางคนพูดเพื่อต้องการให้ผู้ใหญ่รำคาญ และตัวเองรู้สึกว่าสนุก
แนวทางแก้ไขปัญหา
ถ้าเด็กติดการพูดคำไม่สุภาพจากเพื่อนที่โรงเรียนมาให้พ่อแม่ได้ยินควรสอนเด็กในขณะนั้นทันทีไม่ควรปล่อยเวลาไว้เนิ่นนานโดยชี้แจงผลของการพูดคำไม่สุภาพ
⏰ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวังคำพูดที่ไม่สุภาพให้เด็กได้ยินเป็นอันขาดเพราะเด็กจะไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่หรือผู้ใหญ่พูดได้แต่ทำไมตัวเองพูดไม่ได้เมื่อเด็กพูดคำไม่สุภาพครั้งแรกไม่ควรหัวเราะชอบใจเพราะจะทำให้เด็กคิดว่าการพูดคำไม่สุภาพเป็นสิ่งดีงาม น่าภาคภูมิใจจึงจดจำและนำมาพูดเรื่อยๆ
⏰ การปฏิบัติตนต้องแน่นอนสม่ำเสมอช่วยสอนให้เด็กรู้ว่าคำที่ไม่สุภาพเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบและไม่ดีไม่มีใครสนใจโดนสอนหรือบอกเด็กห้อข้าจอย่างง่ายๆพร้อมทั้งปฏิบัติให้คงที่สม่ำเสมอให้เด็กเห็น
เด็กอาจหยุดไม่ได้ทันที พ่อแม่ควรให้เวลาและโอกาสแก่ลูก ลูกก็จะกลับมาเป็นเด็กที่น่ารักและพูดจาไพเราะเหมือนเดิม

⏰⏰ ครูควรสังเกตการณ์ใช้คำพูดของเด็ก หากพบการใช้คำพูดไม่สุภาพ ควรตักเตือนเด็กทันที อาจสอนโดยใช้นิทานที่มีเนื้อหาเปรียบเทียบเด็กที่พูดสุภาพแล้วมีคนรัก อยากพูดด้วย กับเด็กที่พูดไม่สุภาพแล้วไม่มีใครอยากเล่นด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกสะท้อนคิด วันพฤหัสบดี ที่ 11 มิถุนายน 2558


เด็กไม่ยอมกินผัก
      ธรรมชาติของเด็กมักชอบอาหารรสหวานและไม่โปรดปรานอาหารรสเปรี้ยวหรือขม อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งของความ ชอบหรือไม่ชอบรสชาติอาหารมีผลมาจากอาหารที่แม่รับประทานในขณะตั้งครรภ์และระหว่างให้นม สาเหตุของปัญหาเด็กไม่รับประทานผักส่วนหนึ่งอาจเป็นผลโดยตรงมาจากแม่ ดังนั้น หากแม่รับประทานผักหลาก หลายชนิดในขณะตั้งครรภ์ แนวโน้มที่ลูกจะชอบผักหลายชนิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กไม่ยอมรับ ประทานผัก ไม่อาจตัดสินได้โดยสิ่งที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว เพราะปกติแล้วพฤติกรรมการเลือกอาหาร  โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นตลอดช่วงวัยเด็ก เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อลูกสูงสุดและอาจเป็นสาเหตุของปัญหาเด็กไม่ยอมรับประทานผักก็คือ “ผู้ปกครอง”
             สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและพฤติกรรมการบริโภคของเด็กมักถูกกำหนดโดยผู้ปกครอง หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวด ล้อมที่ดี มีโอกาสได้รับประทานอาหารและผักหลายประเภทโดยไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ พ่อแม่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ รวมทั้งสร้างระเบียบวินัยในการรับประทานให้ลูก ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ล้วนนำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมของเด็ก รวมทั้งการรับประทานผักด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ปัญหาเด็กเลือกรับประทานอาหารมักหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น ยกเว้นเมื่อเด็กได้รับการวินิจฉัยว่ามีลักษณะพฤติกรรมเลือกรับประทานอาหารแบบปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสภาพร่างกายและจิตใจ และต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กจะไม่ยอมรับประทานสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคยอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะหิวก็ตาม
แนวทางแก้ไขปัญหา
              ทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับผักก็คือการทำให้เด็กรู้จักผัก โดยครูควรนำผักมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งอาจโยงไปได้ถึงการสอนความรู้แขนงอื่น เช่น ผักและสี ประโยชน์ของผัก ผักและจำนวนนับ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นต้น จากนั้น ครูควรทำให้เด็กเข้าใกล้ผักมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยกิจกรรม “สวนผัก” โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นด้วยกำลังของตัวเองกำลังเติบโต ย่อมทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และอยากลิ้มลองรสชาติอันเกิดจากความทุ่มเทของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ครูอาจจัดกิจกรรมให้เด็กประกอบอาหารจากสวนผักของตนเอง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น และอยากมีส่วนร่วม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวก ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนของนิสัยเลือกรับประทานของเด็กไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน ท้ายที่สุด ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เพราะหากครูสามารถแสดงให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการรับประทานผัก และเปลี่ยนให้เด็กคิดได้ว่าการรับประทานผักไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด พวกเขาย่อมมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาลองรับประทานผักอีกครั้ง